ความเป็นมา
องค์การอนามัยโลกได้จัดให้พยาธิใบไม้ตับทั้งชนิด Opisthorchis viverrini และ Clonorchis sinensis เป็นเชื้อปรสิตที่สามารถก่อให้เกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดีได้ในมนุษย์ ทั้งนี้โรคพยาธิใบไม้ตับยังเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญที่ไม่เพียงพบแหล่งระบาดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือของประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ร้ายแรงในประเทศกัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม (กลุ่มประเทศ CLMV) เช่นกัน พบว่ามีประชากรที่ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับกว่า 40 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนประชากร) ทั้งนี้เพราะประชากรเหล่านี้ยังนิยมบริโภคปลาดิบและอาศัยอยู่บริเวณลุ่มน้ำบริเวณลุ่มน้ำโขงตอนล่าง
โรคมะเร็งท่อน้ำดี (cholangiocarcinoma) คือ มะเร็งที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์เยื่อบุน้ำดีทั้งในและนอกตับ พบคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งท่อน้ำดีและตับจำนวนประมาณ 10,000 – 20,000 รายต่อปี โดยกว่าครึ่งหนึ่งเป็นคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้มีการนำความรู้จากผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปป้องกัน ค้นหา เฝ้าระวัง เพื่อหาผู้ป่วยมะเร็งระยะแรก เพื่อจะได้รับการรักษาให้หายได้ทันการณ์ เพราะประมาณร้อยละ 55 เกิดขึ้นกับประชากรวัยทำงานที่เป็นหัวหน้าครอบครัวอายุระหว่าง 40-60 ปี ซึ่งถือเป็นโรคที่รุนแรงและก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิตของคนในสังคมเป็นอย่างมาก และแม้หน่วยงานทางสาธารณสุขจะได้รณรงค์ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ ในการระวังป้องกันและควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับอย่างต่อเนื่อง กระทั่งทำให้การระบาดของโรคพยาธิใบไม้ตับในไทยลดลงเป็นลำดับ จากร้อยละ 36 ในปี 2531 เป็นร้อยละ 10 ในปี 2545 แต่ในความเป็นจริงพบว่าความถี่ของการติดเชื้อของโรคพยาธิใบไม้ตับของประชาชน มีความผันแปรอย่างมาก โดยเฉพาะการติดเชื้อพยาธิบริเวณรอบ ๆ แหล่งน้ำจืด พบการเกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดีในผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 40 ปี ยังไม่ลดลง มีความผันแปรตั้งแต่ ร้อยละ 2 ถึงร้อยละ 70 สถิติการเกิดโรคอยู่ระหว่าง 93 – 318 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคนต่อปี
หลักการ
ศูนย์กลางด้านความรู้เกี่ยวกับการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมของโรคมะเร็งท่อน้ำดี (Hub of Knowledge for Research and Innovation Development of Cholangiocarcinoma) จะทำหน้าที่ประสานความร่วมมือทั้งในระดับชาติและนานาชาติเพื่อดำเนินการวิจัย สร้างองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยี พร้อมทั้งฝึกอบรม ถ่ายทอดองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยี ในการป้องกัน วินิจฉัยและรักษาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในประชาชนแบบครบวงจรตั้งแต่ระดับปฐมภูมิที่เน้นถึงการป้องกันและควบคุมโรค ระดับทุติยภูมิที่เน้นในเรื่องการคัดกรองและเฝ้าระวังการเกิดโรค และระดับตติยภูมิที่เน้นในการวินิจฉัยและการรักษาโรค โดยการดำเนินงานทั้ง 3 ระดับ ถูกเชื่อมร้อยด้วยระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data System) ที่จะสามารถใช้ติดตามและประเมินการทำงานได้แบบ Real time ซึ่งเป็นการต่อยอกจากการดำเนินงานของสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่นอยู่แล้ว และการทำงานจะเป็นไปในลักษณะบูรณาการ (Trans-disciplinary research) เพราะประกอบไปด้วยแพทย์ผู้เชียวชาญสาขาต่างๆ ได้แก่ศัลยแพทย์ อายุรแพทย์ รังสีแพทย์ พยาธิแพทย์ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เป็นต้น รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญทุกๆด้านที่มาจากคณะวิชาต่างๆ ได้แก่คณะแพทยศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมทั้งสถาบันวิจัยชั้นนำระดับโลกอื่นๆ เช่น Imperial College London, University College London, University of London, University of Edinburgh, University of Manchester, University of Tokyo, Keio University, Mie University, National University of Singapore, Swiss Tropical and Public Health Institute ซึ่งรูปแบบการทำงานที่สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดีทำนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าทำให้สามารถทำงานเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างได้ผลดี รวมไปถึงสามารถพัฒนานักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้สอนและนักศึกษาไทยและต่างชาติที่สามารถมาร่วมงาน/ศึกษาในศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญและศูนย์กลางด้านความความรู้เกี่ยวกับการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมของโรคมะเร็งท่อน้ำดี (Hub of Knowledge for Research and Innovation Development of Cholangiocarcinoma)
วัตถุประสงค์
เป็นศูนย์กลางการผลิตผลงานวิจัย สร้างองค์ความรู้ นวัตกรรมใหม่ๆที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งท่อน้ำดี อันเป็นประโยชน์ทางการแพทย์ด้านวิชาการทั้งในระดับชาติและนานาชาติ รวมถึงเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรมที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาโรคมะเร็งท่อน้ำดีในระดับชาติและนานาชาติ